บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และระเบียบปฏิบัติของกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยเชื่อว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีแสดงถึงการมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและการเติบโตของบริษัทในระยะยาวอย่างยั่งยืน บริษัทได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งหวังให้คณะกรรมการและฝ่ายจัดการของบริษัท พัฒนาระดับการกำกับดูแลกิจการและปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้สอดคล้องกับแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล มากำหนดเป็นนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท และกำหนดให้มีการติดตามเพื่อปรับปรุงนโยบาย ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
บริษัทได้จัดให้มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นลายลักษณ์อักษร และประกาศใช้เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนได้รับทราบและเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กร และเสริมสร้างองค์กรให้มีระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล อันเป็นพื้นฐานของการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนยึดมั่นในหลักสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท บริษัทได้เผยแพร่นโยบายการกำกับดูแลกิจการในการดำเนินธุรกิจในเว็บไซต์ของบริษัทที่ https://jubile-th.listedcompany.com/cg_principle.html
บริษัทได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการละเมิดหรือริดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตน โดยสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น ได้แก่ การซื้อขายหรือการโอนหุ้น การมีส่วนแบ่งในกำไรของบริษัท การได้รับข่าวสารข้อมูลของบริษัทอย่างเพียงพอ การเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และการอนุมัติรายการพิเศษ เป็นต้น โดยในปี 2564 บริษัทได้มีการปฏิบัติดังนี้
การจัดประชุมผู้ถือหุ้น
ในปี 2564 บริษัทได้ดำเนินการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ในวันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2564 เวลา 14.00 น. เป็นการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยถ่ายทอดการประชุมจากสานักงานใหญ่ของบริษัท เลขที่ 179 อาคารบางกอกซิตี้ ทาวเวอร์ ชั้น 10 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมผ่านทางออนไลน์ 10 ราย และผู้ถือหุ้นมอบฉันทะ 37 ราย รวมทั้งสิ้น 47 ราย จำนวนหุ้นทั้งสิ้น 104,672,950 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 60.06 ของจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด จำนวน 174,273,125 หุ้น ครบเป็นองค์ประชุม และเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทที่ต้องมีผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นมาประชุมไม่น้อยกว่า 25 คน และต้องมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด ของจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยในการประชุมมีคณะกรรมการบริษัทประกอบด้วย ประธานกรรมการ กรรมการบริษัท และกรรมการตรวจสอบรวมทั้งสิ้น 9 ท่าน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงและผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ประธานกรรมการบริษัททำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งประธานกรรมการได้ดำเนินการประชุมอย่างครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการประชุมดังนี้
-
ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น
- บริษัทได้ดำเนินการเผยแพร่จดหมายถึงผู้ถือหุ้นผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยรับทราบสิทธิในการเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระการประชุมและเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทตามกระบวนการสรรหาของบริษัทเป็นการล่วงหน้าก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดและเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัทที่ https://jubile-th.listedcompany.com/ ซึ่งการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ไม่มีผู้ถือหุ้นท่านใดเสนอวาระการประชุมหรือเสนอชื่อบุคคลเพื่อพิจารณาเป็นกรรมการอิสระของบริษัทแต่อย่างใด
- เผยแพร่กำหนดการประชุมและวาระการประชุมให้ผู้ถือหุ้นทราบผ่านระบบการสื่อสารข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯและเว็บไซต์ของบริษัทล่วงหน้าก่อนวันประชุม 30 วัน
- จัดส่งหนังสือเชิญประชุมระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุมและเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยรายละเอียดพร้อมด้วยความเห็นของคณะกรรมการในแต่ละวาระ พร้อมแนบ หนังสือมอบฉันทะ รายงานประจำปี รวมทั้งรายละเอียดเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา โดยได้จัดส่งเอกสารดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีรายชื่อ ณ วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อการประชุมล่วงหน้าก่อนการประชุม 14 วัน และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ติดต่อกัน 3 วัน
- เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าประชุมด้วยตนเอง สามารถใช้สิทธิออกเสียงโดยการมอบฉันทะรวมทั้งเสนอชื่อกรรมการอิสระของบริษัทให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้ลงคะแนนเสียงแทนในกรณีผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้
-
วันประชุมผู้ถือหุ้น
- บริษัทเปิดระบบลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 13.00 น. ซึ่งเป็นเวลาล่วงหน้าก่อนการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง กรรมการบริษัท ผู้บริหารทุกท่านรวมทั้งผู้สอบบัญชี ได้เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน
- ก่อนการประชุม เลขานุการคณะกรรมการบริหารได้แจ้งจำนวนผู้เข้าประชุมทั้งผู้ที่มาด้วยตนเองและผู้รับมอบฉันทะให้ที่ประชุมรับทราบ และได้อธิบายวิธีการลงคะแนนเสียงและการสอบถามหรือเสนอความคิดเห็นผ่านระบบ DAP e-Shareholder Meeting
- ประธานในที่ประชุมได้ดำเนินการประชุมตามลำดับวาระที่กำหนดไว้ในหนังสือเชิญประชุม โดยไม่มีการเปลี่ยนลำดับระเบียบวาระ และไม่มีการขอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องอื่นที่ไม่ได้กำหนดไว้ในที่ประชุมแต่อย่างใด
- ประธานเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงและอภิปรายในแต่ละวาระเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการตรวจสอบผลการดำเนินงานของบริษัท ตลอดจนสอบถาม แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ โดยบริษัทได้บันทึกประเด็นสำคัญไว้ในรายงานการประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้
- การใช้สิทธิออกเสียงเพื่ออนุมัติในแต่ละวาระการประชุมจะยึดเสียงข้างมากเป็นมติ โดยใช้วิธีลงคะแนนแบบ 1 หุ้นมีคะแนนหนึ่งเสียง ยกเว้นวาระที่เกี่ยวกับ การอนุมัติการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการประจำปี ให้เป็นไปตามมติของผู้ถือหุ้นซึ่งประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้เข้าร่วมประชุมและมีสิทธิออกเสียง
- ก่อนลงมติในวาระใด ๆ ประธานจะให้ผู้ถือหุ้นสอบถามรายละเอียดและข้อสงสัย
- ประธานให้มีการลงมติในแต่ละวาระอย่างเปิดเผย
- เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นลงคะแนนแต่งตั้งกรรมการเป็นรายบุคคล
- ในระหว่างการประชุมหากมีผู้ถือหุ้นเข้ามาร่วมประชุมเพิ่ม บริษัทจะนับจำนวนผู้ถือหุ้น และจำนวนหุ้นใหม่ทุกครั้งที่มีผู้ถือหุ้นเข้ามาร่วมประชุมเพิ่ม โดยผู้ถือหุ้นท่านที่เข้ามาใหม่ในระหว่างการประชุมสามารถออกเสียงลงคะแนนได้เฉพาะวาระที่ยังไม่ลงมติในที่ประชุมเท่านั้น ทั้งนี้ประธานจะสรุปผลการลงมติในแต่ละวาระให้ที่ประชุมรับทราบ โดยแจ้งผลลงคะแนนระบุจำนวนหุ้นที่ลงมติเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง
-
ภายหลังการประชุม
- หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมบริษัทได้แจ้งมติที่ประชุมผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยได้แจ้งรายละเอียดผลการลงมติ และผลการลงคะแนนเสียงในแต่ละวาระเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้รับทราบ
- มีการจัดทำรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรเก็บไว้เผยแพร่รายงานการประชุมภายใน 14 วัน ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท
- ผู้ถือหุ้นสามารถรับชมเทปบันทึกภาพการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านเว็บคาสต์ (Webcast) บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ https://jubile-th.listedcompany.com/webcast.html
บริษัทมีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีผู้ถือหุ้นไขว้ และไม่มีโครงสร้างการถือหุ้นแบบปิรามิด เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจว่าได้รับผลตอบแทนครบถ้วน มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ถือหุ้นรายย่อย นักลงทุนสถาบัน หรือผู้ถือหุ้นต่างชาติ และสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือหุ้นว่าคณะกรรมการและฝ่ายจัดการได้ดูแลให้การใช้เงินของผู้ถือหุ้นเป็นไปอย่างเหมาะสม ด้วยเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่นใจในการลงทุนกับบริษัทโดยคณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้ ผู้ถือหุ้นได้รับการปฏิบัติ และปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน
- การเสนอวาระการประชุม และเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำ บริษัทได้เผยแพร่จดหมายถึงผู้ถือหุ้นผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระการประชุมตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดและเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัททำให้มั่นใจได้ว่าผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเลือกตั้งกรรมการที่เป็นอิสระเพื่อดูแลผลประโยชน์แทนตนได้
- คณะกรรมการได้จัดกระบวนการประชุมผู้ถือหุ้นในลักษณะที่สนับสนุนให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายตามจำนวนหุ้นที่ถือเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียงอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าประชุมด้วยตนเอง สามารถใช้สิทธิออกเสียงโดยบริษัทจัดส่งหนังสือมอบฉันทะแบบ ข. ไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม โดยระบุเอกสาร/หลักฐานรวมทั้งขั้นตอนในการมอบฉันทะเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถจัดเตรียมได้อย่างถูกต้องในการมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาประชุมและออกเสียงลงมติแทนได้ และไม่เกิดปัญหาในการเข้าร่วมประชุมของผู้รับมอบฉันทะ
- คณะกรรมการได้ทราบถึงรายการที่เกี่ยวโยงกัน และพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบคอบทุกครั้ง โดยปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวโยง ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 56-1 One Report ให้ผู้ถือหุ้นทราบอย่างชัดเจน
- บริษัทมีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหาร และหน่วยงาน โดยได้วางข้อกำหนดห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคคลที่ได้รับทราบข้อมูลภายในเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลภายนอก หรือบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม เว้นแต่เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
- บริษัทกำหนดให้กรรมการ และผู้บริหารต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์
มาตรการป้องกันกรรมการและผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ
บริษัทจะไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ ผู้ถือหุ้นทุกท่านมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลของบริษัทที่เปิดเผยได้ผ่านช่องทางติดต่อต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งจะได้ปฏิบัติอย่างเหมาะสม และได้รับข้อมูลเพียงพอตามที่บริษัทเปิดเผยช่องทางต่าง ๆ มีดังนี้โทรศัพท์ | : | 02-625-1188 หมายเลขภายใน 3208 |
Website | : | www.jubileediamond.co.th |
E-mail address | : | ir@jubileediamond.co.th |
- ผู้ถือหุ้น - บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ยึดมั่นพัฒนาธุรกิจโดยยึดหลักบรรษัทภิบาล และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสามารถให้ผลตอบแทนอย่างยั่งยืน บริษัทเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นในการรับทราบข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินการบริหารงานของบริษัทโดยเปิดเผยผลประกอบการ ฐานะทางการเงิน พร้อมข้อมูลสนับสนุนที่ถูกต้องในเวลาที่กำหนด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น
- ชุมชนและสิ่งแวดล้อม - บริษัทดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างสมดุลทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ (Product) ด้านสังคม (People) และด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมถึงหลักการกำกับกิจการที่ดี (Corporate Governance)
- ลูกค้า - บริษัทมุ่งมั่นในการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าด้วยสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม และบริการเป็นเลิศ โดยดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องเป็นธรรม นอกจากนี้บริษัทมีนโยบายในการรักษาข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้าอย่างจริงจัง และยึดถือผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้แก่ลูกค้าในการร้องเรียน หรือสอบถามข้อมูลได้ตลอดเวลา ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Jubilee Customer Service Center โทร. 02-625-1111 website instagram line@ และ facebook เป็นต้น
- คู่ค้าและ/หรือเจ้าหนี้ - บริษัทปฏิบัติต่อคู่ค้าและ/หรือเจ้าหนี้ตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงทางการค้าไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริตหรือปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอันจะทำให้เจ้าหนี้เกิดความเสียหาย และได้วางข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้บริหาร หรือพนักงานเรียกรับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้า และ/หรือ เจ้าหนี้ หากบริษัทหรือคู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้ พบหรือทราบข้อมูลว่ามีการกระทำที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น จะรีบพิจารณาร่วมกันแก้ปัญหา และหาทางป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ตลอดจนสถาบันการเงิน บริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขการกู้ยืม เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงิน การชำระคืน หลักทรัพย์ค้ำประกัน และข้อตกลงอื่น ๆ โดยที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยกระทำผิดข้อตกลงและเงื่อนไขกับสถาบันการเงิน
- ภาครัฐ - บริษัทถือปฏิบัติเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อภาครัฐ ตามแนวทางคือดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด พร้อมให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน ถูกต้องตามที่หน่วยงานภาครัฐร้องขอ เพื่อแสดงความโปร่งใส ตลอดจนสร้างความมั่นใจ และความเชื่อถือ
- คู่แข่ง - ปฏิบัติต่อคู่แข่งตามกรอบกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรมโดยรักษาบรรทัดฐานของข้อพึงปฏิบัติในการแข่งขัน ไม่ใช้วิธีไม่สุจริตเพื่อทำลายคู่แข่ง ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม และไม่กระทำการใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทไม่มีข้อพิพาทใด ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับคู่แข่งทางการค้า
- พนักงาน - บริษัทมีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการดูแลในเรื่องความปลอดภัย สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของพนักงาน มีการปฏิบัติต่อผู้บริหารและพนักงานของบริษัทอย่างเท่าเทียมกันและให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม และมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน เพื่อเป็นหลักประกันในการดูแลพนักงานในระยะยาว นอกจากนี้บริษัทกำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาความรู้ศักยภาพ เช่น การจัดให้มีการฝึกอบรม ให้ความรู้สร้างความเป็นมืออาชีพให้กับพนักงานขายทั้งในและนอกสถานที่ รวมทั้งการให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลิกภาพของพนักงานอีกด้วย
บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส เท่าเทียม และทันเวลา ทั้งรายงานด้านการเงิน และข้อมูลธุรกิจผ่านช่องทางสื่อสารของตลาดหลักทรัพย์ฯและเว็บไซต์ของบริษัท www.jubileediamond.co.th อย่างสม่ำเสมอ
- ด้วยบริษัทเชื่อว่าคุณภาพของรายงานทางการเงินเป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้นและบุคคลภายนอกให้ความสำคัญ คณะกรรมการบริษัท จึงดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ข้อมูลที่แสดงในรายงานทางการเงินมีความถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป และผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่เป็นอิสระ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่เป็นอิสระเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับคุณภาพของรายงานทางการเงินและระบบการควบคุมภายใน ทั้งนี้รายงานของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ และรายงานของผู้สอบบัญชี มีรายละเอียดปรากฏในรายงานประจำปี
- งานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่นักลงทุน ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจทั่วไป ในรอบปี 2564 งานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ที่ดำเนินการ ได้แก่
- การเข้าร่วมงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opportunity Day) เป็นจำนวน 4 ครั้ง
- การจัดประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) เป็นจำนวน 4 ครั้ง
ช่องทางในการสื่อสารระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้น และนักลงทุน สามารถติดต่อได้ที่ คุณธนภร ธนอาภาพงษ์ เลขานุการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการเงิน หรือติดต่อผ่านทาง E-mail : ir@jubileediamond.co.th
คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบสำคัญในการกำกับดูแลกิจการเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย เช่น การกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ การพิจารณาตรวจสอบการดำเนินงาน ดูแลให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างโปร่งใส
คณะกรรมการบริษัทมีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ และมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม จึงจัดให้มีระบบแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัท และฝ่ายจัดการที่ชัดเจน และดูแลให้บริษัทมีระบบงานที่ให้ความเชื่อมั่นได้ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทได้ดำเนินไปในลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีจริยธรรม
คณะกรรมการบริษัทมีจำนวน 9 ท่าน ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากฝ่ายบริหารจำนวน 3 ท่าน กรรมการ บริษัทที่ไม่เป็นผู้บริหารจำนวน 6 ท่าน โดยมีกรรมการที่มีคุณสมบัติเป็นอิสระจำนวน 6 ท่าน ซึ่งเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน กรรมการทั้งคณะ จึงถือเป็นการถ่วงดุลของกรรมการที่เป็นผู้บริหารอย่างเหมาะสม ประธานกรรมการบริษัทไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน กับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหรือทางธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งกรรมการแต่ละท่านมีคุณสมบัติหลากหลาย ทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์กับบริษัท รวมทั้งการอุทิศเวลาและความพยายามในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเสริมสร้างให้บริษัทมีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง
1. นโยบาย
- 1.1 นโยบายเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายใน
ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรของบริษัทใช้ข้อมูลภายในที่มีสาระสำคัญของบริษัทซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น รวมไปถึงการใช้หรือเปิดเผยข้อมูลที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท โดยห้ามผู้ที่รับทราบข้อมูลทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วง 1 เดือนก่อนงบการเงินหรือข้อมูลภายในนั้นเผยแพร่ต่อสาธารณะชน - 1.2 นโยบายเกี่ยวกับความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) รวมไปถึงระเบียบปฏิบัติของกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“ก.ล.ต.”) และการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย โดยเชื่อว่าระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอันจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและการเติบโตของบริษัทในระยะยาวอย่างยั่งยืน
ดังนั้นบริษัทจึงต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส สามารถตรวจสอบที่มาได้ รวมไปถึงข้อมูลของกรรมการและผู้บริหารที่บริษัทมีหน้าที่ต้องรายงานตามข้อกำหนดของหน่วยงานต่างๆ และตามกฎหมายนั้น บุคคลมีหน้าที่รายงานข้อมูลที่ต้องมีการเปิดเผยต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อบริษัทอย่างครบถ้วนและไม่เป็นเท็จ รวมถึงไม่ปิดบังข้อมูลอันเป็นเหตุให้มีผลกระทบต่อตัวเงินและชื่อเสียงของบริษัท - 1.3 นโยบายเกี่ยวกับการถือครองหลักทรัพย์ของกรรมการและผู้บริหาร
กรรมการและผู้บริหารมีหน้าที่ที่ต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของตนคู่สมรส และบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และจัดส่งสำเนารายงานดังกล่าวให้แก่บริษัทในวันเดียวกับวันที่ส่งรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งต้องรายงานต่อคณะกรรมการโดยแจ้งผ่านทางสำนักเลขานุการล่วงหน้า 1 วันทำการก่อนซื้อขาย โอนหลักทรัพย์ - 1.4 นโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน
ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชันทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยคอร์รัปชัน หมายถึง การติดสินบนในทุกรูปแบบ การเสนอให้ สัญญาจะให้ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชน เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือให้ได้มา หรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใด ที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่นให้กระทำได้ - 1.5 นโยบายเกี่ยวกับการป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์
- ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหารประกอบกิจการ เข้าเป็นหุ้นส่วนหรือเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างเดียวกัน และ/หรือเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทเว้นแต่จะแจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนมีมติแต่งตั้ง
- กรณีที่บริษัทมีรายการเกี่ยวโยงกัน หรือการได้มาจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่สำคัญของบริษัท กรรมการและฝ่ายจัดการของบริษัทจะดูแลให้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนการพิจารณา โดยจัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางสำหรับการพิจารณาความเหมาะสมของการทำรายการที่ชัดเจนและผ่านการกลั่นกรองการทำรายการดังกล่าวจากกรรมการตรวจสอบ กรรมการตรวจสอบจะพิจารณาการทำรายการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญ กรรมการหรือผู้บริหารที่มีส่วนได้เสียจากการพิจารณาในเรื่องนั้น ๆ จะต้องออกจากที่ประชุมและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติรายการนั้นๆ เมื่อลงมติอนุมัติการทำรายการแล้วกรรมการจะกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด และเปิดเผยข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
- ไม่ใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้จากการเป็นกรรมการ ผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทในการทำธุรกิจที่แข่งขันหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัท
- 1.6 นโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
บุคลากรเป็นส่วนสำคัญขององค์กรที่จะทำให้บริษัทเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน บริษัทมีนโยบายสนับสนุนสวัสดิการทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม สิทธิประโยชน์ในเงินทดแทน ตลอดจนการจัดให้มีการขึ้นทะเบียนพนักงานเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมซึ่งสอดคล้องตามกฎหมาย อีกทั้งไม่สนับสนุนการใช้แรงงานบังคับ โดยการจ้างงานของบริษัทต้องเป็นไปตามกฎหมายและเป็นธรรม ปฏิบัติต่อทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างทางกาย จิตใจ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา เพศ ภาษา อายุ สีผิว การศึกษา สถานะทางสังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม หรือเรื่องอื่นใด - 1.7 นโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
บริษัทให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียในทุกส่วน และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (Personal Data Protection Act.) หรือ PDPA ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 บริษัทได้ทำการปรับปรุงและเพิ่มเติมกระบวนการทำงานบางส่วนให้มีความเหมาะสมต่อการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า พนักงาน และคู่ค้า ควบคุมการเข้าถึงและป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ และได้มีการสื่อสารให้กับพนักงานในองค์กรทราบถึงหน้าที่และการควบคุมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ปฏิบัติอย่างเป็นมาตรฐาน กรณีที่ลูกค้า พนักงาน หรือผู้มีส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานทั้งภายในและภายนอกองค์กรมีข้อร้องเรียนหรือได้รับผลกระทบในเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัว ก็สามารถร้องเรียนได้ผ่านทาง Call Center หรือ อีเมล DPO@jubileediamond.co.th
2. ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย
- 2.1 ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น
บริษัทตระหนักและให้ความสำคัญถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตน โดยสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น ได้แก่ การซื้อขายหรือการโอนหุ้น การมีส่วนแบ่งในกำไรของบริษัท การได้รับข่าวสารข้อมูลของบริษัทอย่างเพียงพอ การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเข้าวาระการประชุม และเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทในการประชุมสามัญประจำปี ตลอดจนการเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และการอนุมัติรายการพิเศษ เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจโดยยึดหลักบรรษัทภิบาลเพื่อให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสามารถให้ผลตอบแทนอย่างยั่งยืน บริษัทเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นในการรับทราบข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินการบริหารงานของบริษัท โดยเปิดเผยผลประกอบการ ฐานะทางการเงิน พร้อมข้อมูลสนับสนุนที่ถูกต้องในเวลาที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น - 2.2 ความรับผิดชอบต่อพนักงาน
บริษัทมีนโยบายและการปฏิบัติต่อพนักงานที่เป็นธรรมแก่บุคลากรทุกระดับโดยไม่มีการแบ่งแยก ทั้งในด้านโอกาส ผลตอบแทน การแต่งตั้งโยกย้าย และจัดให้มีสวัสดิการที่เพียงพอและสอดคล้องกับสถานการณ์แก่พนักงาน มีการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ ควบคู่กับการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน เพื่อพัฒนาองค์กรต่อไป รวมทั้งปลูกฝังให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น การห้ามใช้ข้อมูลภายใน การรักษาความลับของลูกค้าอย่างเคร่งครัด เป็นต้น - 2.3 ความรับผิดชอบต่อลูกค้า
บริษัทมุ่งมั่นในการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าด้วยสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม และบริการที่เป็นเลิศ โดยดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องเป็นธรรม รักษาสัมพันธภาพที่ดีและยั่งยืนกับลูกค้าโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่มีต่อลูกค้าอย่างเคร่งครัดนอกจากนี้บริษัทมีนโยบายในการรักษาข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้าอย่างจริงจัง และยึดถือผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้แก่ลูกค้าในการร้องเรียน หรือสอบถามข้อมูลได้ตลอดเวลา ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Jubilee Customer Service Center โทร. 02-625-1111 website instagram line@ และ facebook เป็นต้น - 2.4 ความรับผิดชอบต่อคู่แข่ง
บริษัทประพฤติตามกรอบการแข่งขันที่ดี มีจรรยาบรรณ สนับสนุนและส่งเสริมนโยบายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็น ธรรม การปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้าให้สอดคล้องกับหลักสากลภายใต้กรอบแห่งกฎหมายเกี่ยวกับหลักปฏิบัติการแข่งขัน ทางการค้า ไม่ละเมิดความลับหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าของคู่ค้าด้วยวิธีฉ้อฉล บริษัทยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความ เป็นธรรม โดยปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ในจริยธรรมขององค์กรอย่างเคร่งครัด ไม่กระทำการใดๆ โดยเจตนาเพื่อ ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าโดยการกล่าวหาด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง หรือด้วยวิธีีการที่ไม่เหมาะสม - 2.5 ความรับผิดชอบต่อคู่ค้า
บริษัทปฏิบัติต่อคู่ค้าตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงทางการค้าที่ตกลงกัน อย่างเสมอภาค เป็นธรรม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย อีกทั้งได้วางข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้บริหาร หรือพนักงานเรียกรับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่สุจริตในการทำการค้ากับคู่ค้า หากบริษัทหรือคู่ค้า พบหรือทราบข้อมูลว่ามีการกระทำที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น จะรีบพิจารณาร่วมกันแก้ปัญหา และหาทางป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
- 2.6 ความรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงิน
บริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ และพันธะสัญญาที่ตกลงกันไว้ที่มีต่อเจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงินอย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องเงื่อนไขการค้า หลักทรัพย์ค้ำประกัน วัตถุประสงค์การใช้เงิน การชำระคืนหนี้ เงินกู้ยืม ดอกเบี้ย และข้อตกลงอื่น ๆ กรณีที่บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้หรือเกิดการผิดนัดชำระหนี้ จะรีบแจ้งให้เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินทราบ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกันทันที - 2.7 ความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
บริษัทดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจมีต่อสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างสมดุลทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ (Product) ด้านสังคม (People) และด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) บริษัทให้ความใส่ใจและความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และส่งเสริมให้พนักงานของบริษัทมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงหลักการกำกับกิจการที่ดี (Corporate Governance) โดยบริษัทปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่ออกโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด - 2.8 ความรับผิดชอบต่อภาครัฐ
บริษัทดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด พร้อมให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน ถูกต้องตามที่หน่วยงานภาครัฐร้องขอ เพื่อแสดงความโปร่งใส ตลอดจนสร้างความมั่นใจ และความเชื่อถือ
บทกำหนดโทษ
กรณีที่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานปฏิบัติมิชอบในลักษณะที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการไม่ปฏิบัติตามประมวลจรรยาบรรณอื่นใดตามข้อกำหนดของบริษัท ให้พิจารณาการลงโทษตามโครงสร้างการจัดองค์กรของบริษัท และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทั้งนี้ ให้แต่ละฝ่ายงานเป็นผู้พิจารณาเองในเบื้องต้น และสรุปเรื่องส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงและสายงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อตัดสินความผิด พร้อมทั้งระบุโทษตามความเหมาะสมต่อไป แต่หากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ไม่อาจอยู่ในวินิจฉัยของต้นสังกัดได้ ให้เสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปและกำหนดโทษต่อไป
การกำหนดโทษ
การลงโทษกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานให้พิจารณาตามความหนักเบาของการกระทำ ดังนี้
- ตักเตือนด้วยวาจา
- ตักเตือนด้วยหนังสือ
- พักงานชั่วคราว
- เลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชยภายใต้บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (และที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ทำได้
- ดำเนินคดีตามกฎหมาย